วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นครภูเก็ตรับคืนซากเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ นำไปกำจัดให้ถูกวิธีป้องกันกระทบ สวล.-สุขภาพ

เทศบาลนครภูเก็ตร่วมกับกรมควบมลพิษ รับคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี หวังสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและแยกออกจากขยะทั่วไป
      
       
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 30 ส.ค.54 ที่ห้องประชุมเทศบาลนครภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายรังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ นางสาวสมใจสุวรรณ สุวรรณศุพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วมเปิดตัวและแถลงข่าวโครงการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน รวมพลังลดมลพิษ รักษ์สิ่งแวดล้อมไทย ใต้ร่มพระบารมี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 พร้อมมอบกล่องรับคืนซากผลิตภัณฑ์ให้กับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ 12 แห่ง โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม
      
       นายรังสรรค์ ปิ่นทอง ทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปี 2554 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ หากได้รับการจัดการไม่เหมาะสมและเกิดการรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
      
       จากผลการศึกษาที่ผ่านมา คาดว่า ในปี 2554 นี้ ประเทศไทยจะมีปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นกว่า 1 ล้านชิ้น ซึ่งซากเหล่านี้จำนวนมากได้ถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือนและขายให้กับผู้รับซื้อของเก่า ปัญหาที่พบ คือ การสูญเสียโอกาสในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ และปัญหาการปนเปื้อนอขงสารอันตรายจากการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้ เช่น การเผาสายไฟเพื่อนำทองแดงไปขาย การลักลอบทิ้งเศษชิ้นส่วนที่มีสารตะกั่วเป็นองค์ประกอบ การถอดแยกเครื่องทำความเย็นต่างๆ โดยไม่มีการควบคุมการแพร่กระจายของสารทำความเย็นซึ่งเป็นสารที่ทำลายชั้นโอโซนและเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่าตัว เป็นต้น
      
       ทางกรมควบคุมมลพิษจึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ดำเนินโครงการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยจากการจัดการซากผลิตภัณฑ์อย่างผิดวิธี และเพื่อส่งเสริมการแยกทิ้งซากผลิตภัณฑ์ฯออกจากขยะมูลฝอยก่อนนำไปกำจัดโดยเฉพาะ และสามารถนำไปสกัดโลหะมีค่าออกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และกำจัดซากผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเทศบาลนครภูเก็ต ในการรับเป็นจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์ โดยผู้นำซากผลิตภัณฑ์มาส่ง ณ จุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์ฯของโครงการ จะได้รับสิทธิ์ในการร่วมชิงโชคลุ้นรับรางวัลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องปรินเตอร์ จักรเย็บผ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก เป็นต้น
      
       สำหรับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นเป้าหมายของโครงการนี้ จะเป็นซากผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก ได้แก่ ซากโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สำนักงาน เครื่องปริ้นเตอร์ เครื่องโทรสาร เครื่องเล่น MP3 เครื่องเล่น MP4 เกมกด เครื่องเล่นวีซีดี เครื่องเล่นดีวีดี และกล้องถ่ายรูปดิจิตอล และมีเป้าหมายเก็บรวบรวมจำนวน 84,000 ชิ้น โดยมีระยะเวลารับคืนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 นี้
      
       ด้าน นางสาวสมใจ สุวรรณศุพภนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรับคืนซากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต และเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งประชาชนชาวภูเก็ตสามารถนำซากผลิตภัณฑ์ฯไปคืนได้ตามหน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 นี้ เพื่อที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะได้เก็บรวบรวมนำส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเทศบาลนครภูเก็ตได้เข้าร่วมโครงการในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกสามารถรวบรวมขยะอันตรายได้ 9 ตัน ครั้งที่ 2 ได้ 4 ตัน
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: